Search This Blog

Friday, August 12, 2011

Search Engines and politics: Democratic tools?

อย่างที่เล่าไว้ตอนที่แล้วว่า จะมาเล่าถึงบทบาทของ Search Engines กับสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งผมจะถอดความมาจากหนังสือ Web Search: Multidisciplinary Perspectives โดย มีบรรณาธิการคือ Amanda Spink and Michael Zimmer ซึ่งคนแรกเป็นศาสตราจารย์ด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัย Queensland University of Technology, Brisbane และคนหลังเป็น เจ้าหน้าที่โครงการสังคมข้อมูล ของ Yale Law School
ในปัจจุบัน ข้อมูล ความรู้ การค้า และการเมือง ต่างถูกนำขึ้นไปสู่ออนไลน์ โดยเฉพาะเว็บต่างๆ ทำให้เครื่องมือค้นหาหรือ Search Engines กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเป็นผู้กำหนดการเข้าถึงในไซเบอร์สเปซ และ Google ซึ่งเป็น Search Engines ที่สำคัญที่สุด มีผู้ใช้มากที่สุดจึงมีบทบาทในการกำหนดการเข้าถึงเนื้อหาของผู้ใช้นับร้อยล้านคน ถ้าเราเชื่อว่า การเข้าถึงสื่อต่างๆ ควรเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย Democracy เราก็ควรจะคาดหวังว่า Search engines จะเป็นตัวกระจายข้อมูลในแต่ละเรื่องไปสู่ผู้ใช้อย่างรอบด้าน ไม่ถูกจำกัดด้วยอคติบางอย่าง
ตามหลักการก็คือการที่สาธารณะจะสามารถควบคุมรัฐบาลของตนเองได้ จะต้องได้รับข้อมูลรอบด้าน หลากหลาย และ ข้อมูลฝั่งตรงข้าม ไม่ใช่รับรู้แต่เฉพาะเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งซึ่งอาจจะดีก็ได้ แต่ถ้าไม่รู้เหตุผลอื่น ก็คงไม่สามารถตัดสินได้ว่ามันเป็นเหตุผลที่ดีที่สุด โดยเหตุผลนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับความนิยม จะมีใครบอกว่าถูกหรือผิด จะทำให้คนพอใจ หรือ เป็นการโจมตีใครโดยเฉพาะ สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องให้สาธารณะได้มีโอกาสตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเมื่อมีอะไรผิดพลาด
ในปัจจุบันที่สังคมและคนมากมาย กระจัดกระจายกันอย่างกว้างขวาง จนไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้โดยตรง สื่อไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ จะเป็นตัวกลางในการนำข่าวสารข้อมูลไปสู่คนทั่วไปโดยไม่ต้องมาพบปะกันโดยตรง ซึ่งควรจะต้องเป็นพื้นที่สาธารณะไม่เอื้อประโยชน์หรือรับใช้กลุ่มการเมือง บริษัท หรือ อภิสิทธิ์ชนใดๆ เป็นพิเศษ แต่ด้วยระบบแบบการตลาด และการแทรกแซงจากรัฐบาล ทำให้สื่อทางหลักเอาชนะสื่อทางเลือก เพราะสื่อต่างๆ ก็ล้วนมุ่งหวังผลกำไรสูงสุด ทำให้สื่อต่างๆ ล้วนนำเสนอเรื่องคล้ายๆ กัน เรื่องที่จะนำไปสู่ ความรู้สึกอยากซื้อสินค้า บริการ และหลีกเลี่ยงเรื่องที่จะนำไปสู่คามขัดแย้ง โดยไม่มีพื้นที่สำหรับความเห็นต่าง และหลากหลาย
อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือล่าสุดที่คาดหวังว่า จะเป็นการกระจายข้อมูลจากศูนย์กลาง ทีทุกคนสามารถเข้าถึง ทุกความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยปราศจากข้อจำกัด ด้าน เวลา ระยะทาง และเนื้อหา แม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกับสื่อสิ่งพิมพ์ (ปัจจุบันด้วยความเร็ว ในการนำสัญญาณ ข้อจำกัดตรงนี้ยิ่งน้อยลง เพราะเว็บต่างๆ สามารถเสนอ มัลติมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ – ผู้เขียน) ไม่มีอาณาจักรสื่อใด จะมาเป็นตัวกรองความคิดเห็น ใครอยากสื่ออะไรถึงใครก็สามารถทำได้ ขอให้สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ก็เท่านั้น แม้แต่กลุ่มที่มาจากรากหญ้า ก็มีกระบอกเสียงของตัวเอง (หนังสือนี้ผู้เขียนเป็นอเมริกัน ซึ่งผู้ใหญ่กว่าร้อยละแปดสิบสามารถเข้าถึงและใช้อินเตอร์เน็ตในการหาข้อมูล ซึ่งคงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่นประเทศไทย ซึ่งตามข้อมูลมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ประมาณสิบหกล้านคน ซึ่งน่าจะประมาณห้าสิบเปอร์เซ้นต์ของผู้ใหญ่เท่านั้น และรากหญ้าไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้-ผู้ถอดความ) ความหวังดังกล่าวจะเป็นจริงอย่างที่หวังหรือไม่ จะมาเล่าต่อในครั้งหน้า

No comments:

Post a Comment